11 วัน ของการเดินทาง ในแดนภารตะ ลัดฟ้าสู่ “ลาดักห์” เมืองทิเบตน้อยแห่งอินเดีย…
ปักหมุดแรก… “เดลลิ”… มีเวลาแค่ครึ่งวัน จากที่พัก ว่าจ้างรถสามล้อด้วยราคา 250 รูปี หรือราว 125 บาท ไปยัง ป้อมแดง(Red Fort) ระหว่างทางพบผู้คนขวักไขว่ ถนนหนทางคราคร่ำไปด้วยรถราที่เบียดเสียด หวาดเสียว ขับเฉียดกันแค่ช่วงลมหายใจ ผนวกกับเสียงแตรสนั่นลั่นพาลอาการไมเกรนจะกำเริบ

ป้อมแดง (Red Fort)
ถึงที่หมายด้วยอาการโล่งอก … “Red Fort” ป้อมขนาดใหญ่สวยงามอลังการ ก่อสร้างด้วยหินสีแดง สถาปัตยกรรมโมกุล ที่ก่อสร้างในสมัยของพระเจ้าชาห์ ชะฮาน เก่าแก่กว่า 300 ปี ภายในมีอาคารต่างๆ มากมายใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วตั้งแต่ปี 2550
รุ่งขึ้นบินสู่ลาดักห์ ด้วยพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 3,500 เมตร อากาศจะบางเบากว่าพื้นราบ…การเคลื่อนไหวจำต้องช้าลง …ชีวิตต้อง slow life ไปโดยปริยาย… เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว เตรียมพร้อมการเดินทาง ที่เกือบจะเป็นการผจญภัยในดินแดนทิเบตน้อย โดยมี “เลห์” เมืองหลวงแห่งลาดักห์ เป็นศูนย์กลางของการเดินทางตลอด 10 วัน

วิวแรกพบ ณ เจดีย์สันติภาพ

เจดีย์สันติภาพ

เจดีย์สันติภาพ
เริ่มต้นจากการตระเวณรอบเลห์กันก่อน แห่งแรกคือ เจดีย์สันติภาพ (Shanti Stupa) เจดีย์ที่อยู่บนเขาที่สร้างโดยพระชาวญี่ปุ่น ได้มองเห็นเมืองในมุมสูง บ้านเรือนหลังน้อยที่ถูกห้อมล้อมด้วยเทือกเขา คุมด้วยสีของฟ้าคราม … เป็นวิวแรกพบ ต้องมนต์เสน่ห์เริ่มให้หลงรัก…สานต่อมนต์สะกดที่วัดเซโม และ พระราชวังเลห์

ธงมนตรา 5 สี สัญลักษณ์ทางศาสนาที่เห็นทั่วไปในลาดักห์
รุ่งขึ้นออกเดินไปยังเส้นทางตะวันตก เป้าหมาย คือ หมู่บ้าน Lamayuru ระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำสองสี จากการบรรจบกันของธารน้ำ 2 สาย ระหว่างแม่น้ำสินธุ หรือ Indus กับแม่น้ำซาสการ์ (Zanskar) กับวิวทิวเขาน้อยใหญ่สลับขับกับสีเขียวของทุ่งข้าว สีเหลืองของทุ่งดอกมาสตาร์ท และที่ประหลาดแปลกตาคือภูเขาลักษณะคล้ายกับพื้นของผิวดวงจันทร์ วิวที่มองจากจากวัด Lamayuru สวยงามดั่งภาพวาด ตะลึงแทบลืมหายใจ

แม่น้ำ 2 สี จากการบรรจบของแม่น้ำสินธุ กับแม่น้ำซาสการ์

ทุ่งดอกทุ่งดอกมาสตาร์ทที่กำลังจะเบ่งบาน

บรรยากาศวัดอัลชิ วัดเก่าแก่สร้างราวศตวรรษที่ 11

ภูเขาประหลาดแปลกตา ลักษณะคล้ายกับพื้นผิวของพระจันทร์

ความร่มรื่นของหมู่บ้าน Lamayuru

เด็กน้อยขาเลาะ Lamayuru

วิวประหนึ่งภาพวาด ณ วัด Lamayuru
กลับสู่เลห์ในวันรุ่งขึ้น เพื่อออกเดินไปยังหุบเขานูบรา( Nubra Valley) ที่อยู่ทางเหนือในวันถัดไป ผ่าน Khardungla Pass เส้นทางรถยนต์ที่สูงที่สุดในโลก สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 5,600 เมตร ทว่าเป็นฤดูร้อนแต่ อากาศเย็น หิมะเกาะสันเขาเป็นกำแพงขาว … ไม่อยากจะจินตนาการว่าหน้าหนาวนั้น…จะหนาวยะเยือกเพียงใด

กำแพงหิมะ เส้นทางสู่ Nubra Valley

Khardungla Pass เส้นทางรถยนต์ที่สูงที่สุดในโลก สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 5,600 เมตร
พัก 2 คืนที่หมู่บ้าน Hunder หมู่บ้านเล็กๆกลางหุบเขา นอกจากบรรยากาศอันร่มรื่นชุ่มชื่นด้วยต้นไม้ ลำน้ำไหลหล่อเลี้ยงแปลงพืชผลการเกษตรทั้งหมู่บ้าน ผู้คนยังเป็นมิตรยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายสวัสดีเป็นภาษาถิ่น “Julay” ให้ได้ยินจนชินหู

Hunder หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา บรรยากาศอันร่มรื่นชุ่มชื่นด้วยต้นไม้ ลำน้ำไหลหล่อเลี้ยงแปลงพืชผลการเกษตรทั้งหมู่บ้าน

ชาวบ้านหมู่บ้าน Hunder

สะพานข้ามแม่น้ำ Landmark ของหมู่บ้าน Turtuk
จากหมู่บ้าน Hunder ไปหมู่บ้าน Tur Tuk หมู่บ้านเล็กๆ ติดกับพรมแดนปากีสถาน วัฒนธรรมและหน้าตาของผู้คน จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างทิเบต อินเดีย และปากีสถาน นอกจากข้าวบาเลย์ ข้าวสาลี ที่น่าจะพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านแล้ว แอปปริคอท ลูกดกเต็มต้นดาษเดื่อนเต็มหมู่บ้าน หาง่ายๆประมาณมะม่วงบ้านเรา ก็น่าจะทำเงินได้ดี…. เด็กน้อย Turtukใจดีปีนป่ายเก็บลูกสดสุกพอประมาณมาให้ชิม…รสเปรี้ยวนิด หวานหน่อย ชุ่มน้ำ…อร่อยมากกกก หากเมื่อสุกเต็มที่ สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้ตากแห้ง หรือแยมแอปปริคอทก็อร่อยไม่แพ้กัน

สาวนัยต์ตาคมแห่งหมู่บ้าน Turtuk

เด็กในหมู่บ้าน Turtuk ปีนป่ายต้นแอปปริคอท

ทุ่งข้าวสาลี พืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน

ลาน้อยตัวอ้วนในหมู่บ้าน Hunder

อูฐผู้ยังมีแรง ขณะที่หลายตัวอ่อนแรง นอนสลบคอพับไปแล้ว
ก่อนกลับที่พัก แวะทดลองขี่อูฐสองหนอก… สนนราคาค่าขี่ 200 รูปี(ประมาณ 100บาท ) 15 นาที …เป็น 15 นาที ที่ระทึกและสนุกมาก คุ้มเกินราคาเลยทีเดียว

ประสบการณ์ขี่อูฐครั้งแรกของเหล่าสมาชิก
ระหว่างกลับจาก Nubra แวะชมวัด Diskit Monastery อารามวัดที่ใหญ่ที่สุดในเเทบ Nubra Valley ภายในประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตขนาดใหญ่มาก เเละยังเป็นจุดชมวิวที่สวยอีกแห่ง

วิวอลังการ ณ วัดDiskit

อีกด้านหนึ่งของอารามวัด Diskit

Marmot สัตว์ประจำถิ่น ที่ออกมาให้โชว์โฉมในช่วงฤดูร้อน
กำหนดการเดิม จากNubra ไปทะเลสาบ Pangong แต่เนื่องจากเส้นทางที่ไปถูกตัดขาดจากหินถล่ม จึงต้องกลับมาเลห์ เพื่อใช้อีกเส้นทางในวันรุ่งขึ้น เป็นการเดินทางเหนือเฉียงไปฝั่งตะวันออก ทางลัดเลาะเขาเช่นเดิม 4 ล้อสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก โขยกโขกเขก ตามปุ่มหินนานกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อถึงจุดหมาย ทะเลสาบที่สูงสุดในโลก 5000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
…ความเหมื่อยล้าผ่อนคลาย ด้วยภาพความสวยงามมหัศจรรย์ ปรากฎอยู่ตรงหน้า ทะเลสาบ สีน้ำเงินเข้มอันกว้างใหญ่ ห้อมล้อมด้วยภูเขาสลับสี งดงามปรานภาพวาด…เสียดายเวลาน้อยไปนิด ..ก็จำลาทะเลสาบรสเค็มโขยกโขกเขกกลับเลห์อีกกว่า 5 ชั่วโมง…

ทะเลสาป Pangong

การออกแบบโพสต์ถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย

การเผชิญหน้าระหว่าง ‘สีน้ำทะเลสาบกับท้องฟ้า’

ภูเขาสีม่วง ความแปลกตาอีกแห่ง เส้นทางไปทะเลสาบ Tsomoriri
จากทะเลสาบ Pangong เก็บกระเป๋าไปค้างคืนที่ Tsomoriri ทะเลสาบฝังตะวันออกอีกแห่งหนึ่ง ที่สวยงามไม่แพ้กัน นักท่องเที่ยวที่บางตา บรรยากาศทุ่งเขียวตัดกับสีฟ้าอ่อนของทะเลสาบ ฉากหลังเป็นภูเขา ความสวยงามคงเปรียบได้กับสาวแรกรุ่น เรียบร้อย น่ารัก น่าค้นหา ต่างกับทะเลสาบ Pangong สีน้ำเงินเข้ม ประหนึ่งเป็นสาวสวยจัดจ้าน ทันสมัย ที่ใครๆก็อยากพบอยากเห็น…

สาวน้อยทะเลสาป Tsomoriri

หินอธิฐาน

แปลงพืชเกษตร วิถีชีวิตของชาวลาดักห์

บรรยากาศตลาดเมืองเลห์
จบการเดินทาง 11 วัน เป็นอีกหนึ่งทริปแห่งความประทับใจ ครบสมบูรณ์ ทั้งไมตรีของผู้คน ธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรม ขอบคุณสุดยอดพลขับที่นำพาเราไปสู่จุดหมายที่สวยงามได้อย่างปลอดภัย ขอบคุณเพื่อนพี่น้องเพื่อนร่วมทริปมิตรสร้างตำนานฮา
“ลาดักห์” ความท้าทายอีกแห่งสำหรับนักเดินทาง เส้นทางสายภูเขา ระยะทางไม่ยาวไกล แต่ขนาดสี่ล้อต้องใช้เวลาขับเคลื่อนปีนป่ายนานเป็นวัน อวัยวะภายในภายนอกส่ายสะบัดตามวิถีแห่งปุ่มหิน หากเมื่อถึงจุดหมาย พบกับความงดงามพาลตะลึง จนลืมความเมื่อยล้า หลงเสน่ห์โลกแห่งลาดักห์ เมืองหิมาลัย วิวจากรูปถ่ายคงบอกเล่าความสวยงามได้เพียงเสี้ยวหนึ่ง จากภาพที่ปรากฎด้วยสายตา เตรียมตัว หัวใจ และเวลา(และเงินเก็บบ้าง) เดินทางไปเปิดโลกกว้างกันค่ะ
—————————————-