[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
ยามค่ำคืนของกรุงวอชิงตันดีซี จรัสไปด้วยแสงสีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สีขาวเจิดจ้าจากสปอตไลต์ อาบไล้ยอดโดมสูงสง่าแห่งรัฐสภาสหรัฐ, The Capitol โดดเด่นเหนือความมืดมนอนธการและดวงดาว

สองสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ว่าใครไป-ใครมาเที่ยวกรุงวอชิงตันดีซี ก็ต้องขอปักหมุด หยุดสัมผัสด้วยสายตาตัวเองสักครั้งในชีวิต แน่นอน หนึ่งคืออาคารรัฐสภาสหรัฐและสองคือทำเนียบขาว ศูนย์กลางการบริหารประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

เมกกะทางการเมืองทั้ง 2 แห่งดังกล่าวตั้งอยู่คนละฝากฝั่งของ National Mall ครับ ผมคิดว่านั่นอาจเป็นอุดมคติของผู้ออกแบบที่ซ่อนวิถีของการถ่วงดุลอำนาจ หรืออาจแค่สะท้อนเอกภาพผังเมืองหลวงแห่งนี้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันด้วยสายตาและจิตวิญญาณ

หากไม่ได้วางแผนเที่ยวไว้ล่วงหน้า การมาชื่นชมความสวยงามควรใช้รถสาธารณะเท่านั้น อาคารรัฐสภาสหรัฐใช้รถไฟใต้ดินลงที่สถานี Smithsonian ก็ได้ หรือ Union Station ก็ดี แต่ทั้งหมดล้วนต้องเดินต่อไปอีกประมาณ 10-15 นาที ในช่วงฤดู Autumn เช่นนี้ เดินเพลินๆ ดูดอกไม้บานก็สุขสำราญใจดี

ส่วนการแวะไปชมทำเนียบขาว ควรใช้รถไฟใต้ดินสายสีส้ม สีน้ำเงิน และสีเงินลงที่สถานี Federal Triangle ออกมาก็จะพบกับอาคารแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่เรียกว่า Ronald Ragan Building เดินต่อไปตามถนน Pennsylvania Avenue อีกประมาณ 200 เมตร

การเข้าไปชมสภาคองเกรสและทำเนียบขาวนั้น ท่านสามารถทำได้โดยยื่น ขออนุญาตล่วงหน้าผ่านทางเวปไซด์หลักของทั้งสองแห่ง ตรงนี้ผมเชื่อว่าคือความฝันสูงสุดของทุกคนที่สนใจการเมืองสหรัฐทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าใครมีแรงบันดาลใจ ใครฉวยโอกาสดีๆ ตรงนั้นได้มากกว่ากัน

อาคารรัฐสภาสหรัฐหรือ The Capitol ค่อนข้างเปิดกว้างต่อสาธารณะครับ ไม่เฉพาะชาวอเมริกันเท่านั้นที่เข้าไปได้ แต่ผู้คนทั่วไปนี่แหละสามารถเดินเรื่องเอง ส่งเอกสารไปขออนุมัติได้เลย เพราะมีการติดป้ายไว้ข้างหน้าอาคารชัดเจนเลยว่า ณ ที่แห่งนี้ บิดาผู้ก่อตั้งประเทศมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ดังนั้นประชาชนจึงต้องเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ ความงอกงามและความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดในโลกได้

ขณะที่ White House นั้น ให้เข้าชมได้เฉพาะชาวอเมริกันเป็นหลัก แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องมีสมาชิกสภาคองเกรสให้การรับรอง ‘Public tour requests must be submitted through one’s Member of Congress’ ทั้งนี้จะต้องยื่นคำขอล่วงหน้าต่อ Visitors Office information สามเดือน และกำหนดว่าใครยื่นก่อนมีสิทธิก่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เค้าเปิดช่องทางไว้ว่าถ้าคนทั่วไปที่ไม่ใช่อเมริกัน เช่น นักท่องเที่ยวที่สนใจจริงๆ ก็สามารถทำหนังสือขออนุมัติจากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี ก็จะเป็นอีกหลักฐานเอกสารช่วยยืนยันให้เจ้าหน้าที่ไวท์เฮาส์มั่นใจ ให้เราได้เข้าไปในพื้นที่ๆ ระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเช่นนี้ได้อีกด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างลำบากมาก โอกาสที่คนเอเชียอย่างเราๆ จะเข้าไปชื่นชมภายในสถานที่ทำงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นไปได้น้อยมาก

ครั้งหนึ่งในชีวิตต่อคิวเข้าชม The Capitol

การเข้าไปเยี่ยมชมภายในรัฐสภาสหรัฐ ทุกคนจะต้องตรงต่อเวลานัดหมายตามรอบที่กำหนดไว้ สำหรับผมได้เข้าไปเวลา 9.20 น. จึงมาถึง Information Center ก่อนเวลาประมาณ 9.00 น. ต้องใช้เวลาต่อคิวตรวจเอกสารและระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด แต่บรรยากาศก็คึกคักครับ มีทั้งคนสหรัฐและนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา ล้วนมีหัวใจจดจ่อในสิ่งเดียวกัน

เจ้าหน้าที่รัฐสภาจัดให้เราเดินเข้าไปเป็นกรุ๊ปๆ ละ 20 คน เราสตาร์ทด้วยการชมภาพยนตร์ปูพื้นให้เห็นความเป็นมา ความสำคัญ และการออกแบบก่อสร้าง The Capitol ที่มียาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยจอร์จ วอชิงตัน มาก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่วอชิงตันดีซี

ไม่เพียงความงดงามของสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่อาคารรัฐสภาแห่งนี้ยังเปี่ยมล้นไปด้วยจิตวิญญาณของนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาและของโลกใบนี้ด้วย ในโถงใหญ่จะมีรูปปั้น The Statue of Freedom พร้อมด้วยใบหน้าผู้นำทุกคนเพื่อยกย่องและให้เกียรติขั้นสูงสุด

ไกด์พาเราไปห้อง Hall of Fame และชี้ให้เราดูที่ห้องทำงานด้านใดใกล้ๆ กัน ซึ่งเขาแนะนำว่านั่นคือออฟฟิสของ พอล ไรอัน ณ โมเมนต์นั้นเขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน นักการเมืองที่ยังหนุ่มและหล่อมากๆ แต่บอกตรงๆ ว่าฝีปากจัดจ้าน เลยทำงานกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้อย่างดี

พอล ไรอัน (ขวา)

ปัจจุบันในสภา Congress ซึ่งประกอบด้วย สภาบน หรือวุฒิสมาชิกจำนวน 100 ที่นั่ง และ สภาล่างหมายถึงสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐต่างๆ อีก 435 ที่นั่ง

ไฮไลต์สุดของทริปนี้ก็คือการเดินเข้าไปในจุดศูนย์กลางเรียกว่า ‘The Capitol Dome’ คือโถงใหญ่ที่สุดของอาคารรัฐสภาสหรัฐ ใจกลางของ The Capitop ที่ถูกเรียกขานว่า The Rotunda ซึ่งภายในวิจิตรสวยงามและสูงส่งด้วยอุดมการณ์ ใช้ในงานพิธีต้อนรับอาคันตุกะของรัฐสภา การให้เกียรติทหารผู้ทำคุณงามความดีแก่ประเทศ อีเวนท์ต่างๆ ของสภาคองเกรส และการเฉลิมฉลองวาระสำคัญๆ

ภาพเขียนบน The Capitol Dome รังสรรค์โดย Constantino Brumidi ศิลปินชาวอิตาเลียน-อเมริกัน วาดไว้เมื่อปี 1865 พูดถึงเหล่าผู้สร้างระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐและสรรเสริญบิดาผู้ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนอาณานิคมให้เป็นประเทศอิสรภาพคือนายพล จอร์จ วอชิงตัน

หากมองจากภายนอก The Capitol Dome คือไอคอนสำคัญที่เราจะเห็นบ่อยครั้ง เป็นฉากหลังของไตเติ้ลสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN จนถึงซีรีย์การเมืองชื่อดังเรื่อง House of Cards

เราใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกับการเดินชมสถานที่แห่งนี้ ซึมซับทุกๆ เฟรมภาพ ทุกๆ บรรยากาศเท่าที่ความหนาแน่นของผู้คนจะเอื้ออำนวยให้ได้ เมื่อจบทริปและร่ำลาเจ้าหน้าที่ไกด์ทัวร์ ผมแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบเดินออกจากอาคาร The Capitol โดยทันที เพราะจะมีทางเชื่อมต่อจาก The Capitol ไปยัง Thomas Jefferson Building ที่ตั้งของ The Library of Congress  ซึ่งมีความสวยงามมากจริงๆ

‘ห้องสมุดสภาคองเกรส’ นับเป็นสถานที่ๆ รัฐบุรุษ โทมัสเจฟเฟอร์สัน ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่สังคมและคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ค้นคว้า หาข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาประเทศชาติและประชาชน โดยปัจจุบัน The Library of Congress ถือเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีหนังสือ 38 ล้านเล่ม และภาพถ่ายที่เก็บไว้อีก 14 ล้านภาพ ครอบคลุมความรู้ถึง 470 ภาษา

สัมผัสไวท์เฮาส์ในทุกแง่ทุกมุม

ในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน อากาศหนาวเหน็บแม้จะเพิ่งย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วง ผมใช้เวลาอีกหนึ่งวันในการตามหา White House โดยนั่งรถไฟใต้ดินจากโรงแรมที่พักไปลงสถานี Ronald Ragan Building เดินเลี้ยวซ้ายออกไปตามถนน Pennsylvania Avenue ผ่านโซนที่เป็นย่านเรียกว่า Downtown

อาคารเมืองเก่าเรียงรายดูเพลินๆดี มีป้ายบอกทางพาให้เราพบกับไวท์เฮาส์ทางฝั่งใต้ ส่วนนี้สังเกตง่ายๆ คือตัวอาคารมีระเบียงโค้งมนเป็นรูปครึ่งวงกลม เสาโรมัน และสวนเขียวขจีอยู่ด้านหน้า

ถึงแม้ผมจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปชมภายในทำเนียบขาวโดยตรง เพราะติดเงื่อนไขที่เข้มงวด แต่เราก็มีโอกาสได้ชมทุกมิติของตัวอาคารทำเนียบขาว จาก White House Visitor Center ซึ่งตั้งอยู่บนถนน Pennsylvania ติดกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐครับ

White House Visitor Center มีสตอรี่เรื่องราวทุกๆ แง่ทุกมุมของทำเนียบขาว เรื่องเล็ก เรื่องน้อย จนถึงแบบจำลองของอาคารขนาดใหญ่ให้เราเรียนรู้ว่าห้องรูปไข่อยู่ตรงไหน West Wing ทำหน้าที่อะไร หรืออาหารที่เชฟ เสิร์ฟให้แก่แขกบ้านแขกเมือง ที่มาเยี่ยมเยือนทำเนียบประธานาธิบดีมีอะไรบ้าง

สถาปัตยกรรม 200 ปี จนถึงปธน.คนที่ 45

ไวท์เฮาส์ วางพิมพ์เขียวเมื่อปี 1791 สมัยรัฐบาลจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ วางรากฐานให้กับสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ด้วยมีการเปิดให้ประชาชนนำเสนอดีไซน์ของอาคารและแบบแปลน ซึ่งสถาปนิกที่นามว่า James Hoban ได้รับเลือก

โดยรัฐบาลใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี เสียดายที่กว่าจะสร้างเสร็จก็หมดวาระดำรงตำแหน่งของจอร์จ วอชิงตันไปแล้ว และจอห์น อดัมส์พร้อมสตรีหมายเลขหนึ่งคืออะบิเกล ก็ก้าวเข้าไปเป็นผู้นำคนแรกที่ได้สัมผัสด้านในของทำเนียบขาว แม้จะยังไม่แล้วเสร็จดีก็ตาม

ต่อมาใน ปี1814 ระหว่างสงครามกับสหราชอาณาจักร มีการเผาทำเนียบขาวให้มอดไหม้ แต่ไม่หมดเพราะโครงสร้างยังคงหลงเหลือไว้ให้สถาปนิก James Hoban กลับมาบูรณะความฝันที่เขาได้ริเริ่มไว้อีกครั้ง

กระทั่งประธานธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ เป็นผู้ให้เกียรติสถานที่แห่งนี้ด้วยการเรียกขานว่า ‘White House’ ติดปากจนถึงปัจจุบัน พร้อมรีโนเวทครั้งใหญ่ในปี 1902

ไฮไลต์สำคัญในยุครูสเวลท์ คือการย้ายสำนักงานประธานาธิบดี ซึ่งเป็นที่ทำงานของผู้บริหารและทีมงานในทำเนียบขาวเดิมอยู่ชั้น 2 ของไวท์เฮาส์ให้มาอยู่ในพื้นที่สร้างใหม่เรียกว่า Executive Office Building ทางปีกตะวันตก หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘West Wing’ มีนัยถึงกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางการบริหารประเทศและการใช้อำนาจสูงสุด

ปัจจุบันทำเนียบขาวมีทั้งหมด 132 ห้อง เป็นทั้งสถานที่ทำงาน บ้านพักอาศัยของประธานาธิบดีและครอบครัว มีห้องจัดเลี้ยงที่สามารถรองรับแขกได้ถึง 140 คน รวมถึงเป็นหนึ่งในมิวเซียมทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่มีเรื่องราวแห่งเกียรติยศและ Story ที่เปลี่ยนแปลงใหม่ทุกๆ ปี จนถึงประธานธิบดีคนที่ 45 ที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์

ภายใน White House Visitor Center ยังมีร้านกิฟท์ช้อปเล็กๆ ให้ผู้มาจากแดนไกล ได้ซื้อของที่ระลึกน่ารักๆ ติดมือกลับบ้าน อย่างตุ๊กตาใบหน้าประธานาธิบดีทุกคน พวงกุญแจ ปากกา และหนังสือน่าซื้อทั้งนั้นเลย

ผมเดินออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ต่อไปยังจุดที่ทางรัฐบาล เค้าเปิดให้คนทั่วไปสามารถชื่นชมไวท์เฮาส์จริงๆ ได้จากภายนอก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นจุดชมวิวที่ค่อนข้างไกลจากทำเนียบขาวพอสมควร ระยะห่างจากรั้วเหล็กของทำเนียบขาวประมาณ 10 เมตร มีถนนคั่นกลางอีกต่างๆ พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยค่อนข้างแน่นหนา

ผู้คนมากมายต่างตรงดิ่งมาถึงจุดนี้ เพราะที่ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตและต้องถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ผมโชคดีที่บังเอิญพบกับครอบครัวคนไทย 3 ท่าน ที่ตั้งใจมาเหมือนกัน จึงทักทายกันด้วยมิตรไมตรีที่ดี แลกเปลี่ยนความรู้สึก แถมยังมีแพลนไปเที่ยวนิวยอร์คเหมือนกันอีกด้วย เราคุยกันสักพักแล้วก็แยกย้ายกันไปตามทางแยกของเมืองใหญ่

นับจากอิฐก้อนแรก … White House สร้างโดยใช้แรงงานทาสผิวดำในยุคที่สหรัฐยังคงมีการกดขี่ทางวัฒนธรรมและแบ่งชนชั้นทางสังคม ไปจนถึงช่วงเวลาของการพังทลาย สูญสลาย และเนรมิตขึ้นใหม่ ผ่านเรื่องราวทางการเมืองมากมายนับจากปลาย ศตวรรษที่ 19 ถึง ศตวรรษที่ 21 แต่สีขาวของอาคารก็ยังไม่เคยจางหาย ไม่แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐอเมริกาวันนี้…ต้องล้มลุก คลุกคลานกว่าจะแข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน

First Lady Melania Trump reads “Party Animals,” by author Kathy Lee Gifford, on Monday, April 17, 2017, to a group of children at the 139th Easter Egg Roll on the South Lawn of the White House in Washington, D.C. This was the first Easter Egg Roll of the Trump Administration. (Official White House Photo by Keegan Barber)